พานขันหมาก
พานขันหมาก

พิธีแห่ขันหมาก

พานขันหมาก เป็นพระเอกในพิธีแห่ขันหมาก และถือเป็นส่วนสำคัญในการจัดงานแต่งงานแบบไทย ถือเป็นส่วนเปิดงานจึงต้องมีความอลังการในระดับหนึ่ง ควรตระเตรียมทีมให้พร้อม เซตพานให้ครบถ้วนถูกต้อง และอย่าลืมในส่วนของดนตรีเพื่อความครื่นเคร้ง อันเป็นรากฐานของงานมงคลสไตล์ไทยๆ พิธีแห่ขันหมากจัดเป็นพระเอกของพิธีแต่งงานแบบไทย เพราะเจ้าบ่าว และเครือญาติจะต้องยก “ขบวนขันหมาก” ไปสู่ขอเจ้าสาวถึงบ้าน

การจัดขันหมากทั้งขันหมากเอกและขันหมากโทหรือขันหมากบริวาร เป็นหน้าที่ของพ่อแม่และญาติฝ่ายชาย เป็นผู้จัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อย ซึ่งนิยมจัดหากันตามความสะดวกและเหมาะสม เช่น เงินทอง สร้อย แหวนกำไล โดยจัดเอาไว้ล่วงหน้าหลายๆวัน ขนมนมเนยผลไม้มักจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าประมาณสักสองวัน เพราะถ้าเก็บไว้นานจะเน่าเสียได้ ส่วนต้นกล้วย ต้นอ้อย หมากพลูที่จะใช้ก็ทำการเสาะหาหรือเจรจา ขอเพื่อนบ้านไว้เป็นการล่วงหน้า เมื่อถึงวันงานค่อยไปขุดไปตัดหามา ส่วนสำหรับฝ่ายหญิง จะต้องเตรียมของเลื่อนเตือนขันหมาก เช่น ผ้าไหว้ ของสำหรับเลี้ยงแขกและจัดหาผู้ที่ทำหน้าที่รับขันหมาก ผู้ดูแลเกี่ยวกับพิธีทางศาสนา ฯลฯ

อ่านดูแล้วอาจมีเนื้อหาไม่น้อย ให้สีครีมเล่าให้ฟังเป็นเรื่องๆไป ดีกว่านะ


การจัดขบวนขันหมาก

ขบวนขันหมาก1
การจัดขบวนขันหมาก 1
ขบวนขันหมาก2
การจัขบวนขันหมาก 2

ขันหมากเอก พานขันหมากเอก เป็นพานเอกที่ใช้ถือนำขบวน โดยขันหมากเอกประกอบไปด้วย พานต้นกล้วย ต้นอ้อย ที่เราเห็นมีคนถืออยู่หน้าขบวนนั่นเอง

  • พานขันหมาก : บรรจุด้วยหมากดิบ 4 ผล และใบพลู 4 เรียง พร้อมกับถั่วเขียว, ข้าวเปลือก, ข้าวตอก, งาดำ ที่บรรจุแยกเป็นถุงเล็กๆ รวมทั้งขันที่รองใบเงิน ใบทอง ใบนาก เช่นเดียวกับขันหมากหมั้น
  • พานสินสอด : ส่วนนี้จะใส่สินสอด โดยส่วนใหญ่มักจะแยกเป็นพานเงินสดกับพานเครื่องประดับเป็นคู่ โดยจะใช้ผ้าลูกไม้ในการคลุมพานเอาไว้ ซึ่งจำนวนสินสอดจะขึ้นอยู่กับฐานะหรือการตกลงกันระหว่างฝ่ายเจ้าสาวและเจ้าบ่าว
  • พานแหวนหมั้น : เป็นพานที่ใส่แหวนหมั้นของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว อาจจะแบ่งแยกเป็น 2 พาน หรือจะใส่รวมเป็นพานเดียวกันเลยก็ได้เช่นกัน
  • พานธูปเทียนแพ : สมัยก่อนมีไว้สำหรับไหว้ผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ปัจจุบันแบ่งเป็นพานสำหรับไหว้บรรพบุรุษกับพานไหว้ผู้ใหญ่ ซึ่งพานไหว้ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้ธูปเทียนและดอกไม้อย่างพานไหว้บรรพบุรุษ จะใช้เป็นเป็นผ้านุ่งหรือของใช้อื่นๆแทนก็ได้

ขันหมากโท ขันหมากโทหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพานขันหมากบริวาน เป็นพานที่ประกอบไปด้วย อาหารคาว อาหารหวาน และผลไม้ต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ได้แก่ ต้นกล้วย ต้นอ้อย หมู ไก่ เหล้า มะพร้าว ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง และยังมีขนมอื่นๆอีก เช่น ขนมกวน กาละแม ข้าวเหนียวแดง เป็นต้น แต่ละถาดจะมีกระดาษแดงแปะไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล  นอกจากนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ เหล้า ต้นกล้วย และต้นอ้อย

  • พานอาหารคาว : มักจะเป็นพานไก่ต้มและพานหมูนอนตอง ซึ่งทั้งสองพานนี้มักนิยมจัดมาคู่กัน
  • พานผลไม้ : พานขันหมากโทจะใช้ผลไม้มงคล 1 คู่ อย่างเช่น มะพร้าว, ส้มโอ, ทับทิม, ส้มสายน้ำผึ้ง เป็นต้น
  • พานขนมมงคล : ขนมมงคลที่นิยมนำมาใช้ในพิธีแต่งงาน มี 9 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความหมายดี ซึ่งจะจัดเป็นคู่เพื่อความเป็นสิริมงคลของคู่บ่าวสาว

พานขันหมาก 9 คู่

พานขันหมาก 9 คู่

พานขันหมาก โท มงคล 9 คู่ เป็นขันหมากโทขนาดกลาง จัดตามความเหมาะสม โดยเน้นไปที่ ขนม และผลไม้เป็นหลัก ในชุดขบวนขันหมากโทจะประกอบไปด้วยชุดพาน ของในพานและฝาครอบสีทอง จัดตกแต่งสวยงามตามแบบประเพณีไทย

  • ต้นกล้วย 1 คู่
  • ต้นอ้อย 1 คู่
  • ขนมมงคล  1 คู่
  • ขนมจันอับ 1 คุ่
  • ขนมเปี๊ยะ ใหญ่ 1 คู่
  • ขนมโก๋ปลา 1 คู่
  • ส้มโอ 1 คู่
  • มะพร้าว 1 คู่
  • กล้วย 1 คู่

พานขนมมงคล

ขนมมงคล 9อย่าง

นมไทยมีเอกลักษณ์และแฝงไปด้วยความหมายอันเป็นสิริมงคล เปรียบเสมือนสัญลักษณ์สำคัญในงานมงคลสมรส ซึ่งขนมมงคลที่นิยมนำมาใช้สำหรับงานแต่งงานในภูเก็ตประกอบไปด้วย 9 ชนิด เพราะมีความเชื่อว่า เลข 9 เป็นเลขที่ดี เลขมงคล หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า ก้าวไกล ทำอะไรก็มีแต่สิ่งดีๆและประสบความสำเร็จ ซึ่งขนมมงคลที่ว่ามีขนมอะไรบ้าง มาดูพร้อมๆกันเลย!

  • ทองหยิบ – เป็นหนึ่งในขนมหวานไทย มีชื่อเป็นสิริมงคล ต้องมีความพิถีพิถันในการทำ เชื่อกันว่าขนมทองหยิบมีความหมาย คือความมั่งคั่งร่ำรวย ทำให้ชีวิตคู่รุ่งเรือง หยิบจับงานอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง
  • ทองหยอด – มีรูปทรงเป็นหยดน้ำสีทอง มักนิยมนำมาใช้ในงานมงคลสมรส หมายถึง การแทนคำอวยพรให้ร่ำรวยเงินทอง ใช้จ่ายอย่างไม่รู้หมดสิ้น ประดุจการมอบทองคำอันล้ำค่าให้แก่กัน
  • ฝอยทอง – ขนมไทยที่มีลักษณะเป็นเส้นสายสีทอง เรียงยาวสวยงาม และมีความเชื่อว่าห้ามตัดขนมให้สั้น เพื่อที่คู่บ่าวสาวได้ครองคู่และรักกันอย่างยั่งยืนตลอดไป
  • ทองเอก – มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่น สง่างาม ด้วยวิธีการทำที่ประณีต ละเอียดลออ และตกแต่งด้วยทองคำเปลวติดไว้ด้านบน ซึ่งหมายถึงการเป็นที่หนึ่ง เป็นการอวยพรให้บ่าวสาวเจริญในหน้าที่การงาน
  • เสน่ห์จันทร์ – เป็นขนมที่นิยมนำมาใช้ในงานพิธีมงคลสมรส โดยมีความหมายคือ มีเสน่ห์คนรักคนหลงดังเสน่ห์ของผลจันทร์
  • เม็ดขนุน – เป็นขนมหวานไทยในตระกูลสีทองอีกชนิดหนึ่ง ที่ตัวขนมมีกลิ่นหอมจากมะพร้าว ซึ่งมีความหมายคือ มีคนคอยสนับสนุนไม่ขาด และช่วยสนับสนุนการดำเนินชีวิตและหน้าที่การงานของคู่บ่าวสาว
  • จ่ามงกุฎ – เป็นขนมที่มีรูปลักษณ์เหมือนมงกุฎ เปรียบเสมือนคำอวยพร ให้มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และยังหมายถึงการมีเกียรติ
  • ขนมชั้น – เป็นขนมที่ต้องใช้ความละเมียดละไม เพราะต้องทำทีละชั้นให้เท่าๆกัน และมักมีทั้งหมด 9 ชั้น ซึ่งเป็นเลขสิริมงคลให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต และได้เลื่อนขั้น เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ให้สูงยิ่งๆขึ้นไป
  • ถ่วยฟู – เป็นขนมที่มีลักษณะคล้ายถ้วย มีความฟูและมีกลิ่นหอมจากน้ำดอกไม้ เปรียบเสมือนคำอวยพร ให้มีความเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู และให้ชีวิตคู่และครอบครัวมีแต่ความเจริญ

บายศรี

พานบายศรี

บายศรี เป็นการใช้ภูมิปัญญาไทย ในการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ ผู้ได้รับการทำพิธี บายศรีจึงเป็นของสูง สิ่งมีค่าของไทยมาแต่โบราณ ในงานมงคลทุกงานจะมีพิธีที่มีบายศรีเป็นส่วนสำคัญ เป็นศาสนพิธีของศาสนาพราหมณ์ คำว่าบาย เป็นภาษาเขมร หมายถึง ข้าวสุก ศรี เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง มิ่งขวัญ บายศรี จึงหมายถึง ขวัญข้าว หรือภาชนะใส่เครื่องสังเวย
          ก่อนทำพิธีสู่ขวัญ ต้องมีการจัดทำพาขวัญหรือขันบายศรี หมายถึง ภาชนะใส่เครื่องสังเวยบูชาก่อนการเรียกขวัญ ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยใบไม้ เช่น ใบตองกล้วย นำมาพับ เป็นมุมแหลมและเย็บซ้อนอย่างสวยงาม อาจทำเป็น 3 ชั้น 5 ชั้น หรือ 7 ชั้น แล้วแต่ความเหมาะสมของผู้จัดพิธี บายศรีจึงเป็นความเชื่อของคนทุกภาคในประเทศไทย การทำพิธีโดยใช้บายศรี ก่อให้เกิดขวัญกำลังใจ ช่วยให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถเผชิญภยันตรายได้อย่างดี ทำให้เกิดโชคลาภและสิริมงคลแก่ผู้กระทำ การใช้บายศรี มีทั้งเหตุการณ์ดีและเหตุการณ์ไม่ดี
          การสู่ขวัญโดยใช้บายศรีในเหตุการณ์ดี เช่น การเกิด บวช แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ฉลองตำแหน่ง ผูกเสี่ยว การกลับมาบ้าน เพื่อให้เกิดสิริมงคลยิ่ง ๆ ขึ้นไป
          การสู่ขวัญโดยใช้บายศรีในเหตุการณ์ที่ไม่ดี เช่น การเจ็บป่วย การเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ร้ายต่าง ๆ ที่ทำให้เสียขวัญ เพื่อสะเดาะเคราะห์ ให้หายจากเหตุการณ์ร้าย
          หมอขวัญ จะเป็นผู้ประกอบพิธี โดยเชิญเทวดาอารักษ์มาเป็นสักขีพยาน และบันดาลให้เจ้าของขวัญประสบความสำเร็จ ความสุขและความเจริญ
          บายศรี ตั้งแต่โบราณมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีชื่อเรียกแตกต่างกัน มีวิธีทำและวิธีใช้ไม่เหมือนกัน อาทิ
              1. บายศรีเทพ ใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ สำหรับบวงสรวง เทพ พรหม เทวาอารักษ์ ประกอบด้วย บายศรีเก้าชั้น ทั้งหมดแปดตัว ประดับพานด้วยดอกดาวเรือง กุหลาบและดอกรัก ยอดตัวบายศรีปักด้วยเม็ดโฟมและเข็มหมุด ห้อยอุบะดอกรัก ประดับยอดด้วยดอกดาวเรืองและดอกบัว
              2. บายศรีพรหม ใช้ในงานพิธีใหญ่ สำหรับบวงสรวงเทพยดา หรือองค์พรหม ประกอบด้วย บายศรีตัวแม่เก้าชั้น 4 ตัว และตัวบายศรี 6 ชั้น 4 ตัว ประดับด้วยดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ ดอกบ้านไม่รู้โรย ห้อยอุบะดอกรัก ยอดประดับด้วยดอกบัวและดอกดาวเรือง
             3. บายศรีตอ ใช้ในงานบวงสรวงครูแขนงต่าง ๆ ประกอบด้วย บายศรีตัวแม่เก้าชั้น ตัวลูกเจ็ดชั้น ประดับพานด้วยดอกดาวเรือง กุหลาบ ห้อยอุบะดอกรัก ประดับยอดด้วยดอกดาวเรืองและดอกบัว
             4. บายศรีปากชาม นิยมทำ 3 ชนิดคือ
                   4.1 บายศรีปากชาม 7 ยอด (เล็ก เป็นบายศรีขนาดเล็กที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์มาก ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ เช่น ตั้งศาลพระภูมิ ทำบุญต่าง ๆ ยอดกรวยเสียบด้วยไข่ และดอกไม้ที่เป็นมงคล
                   4.2 บายศรีปากชาม 7 ยอด ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ เช่น ทำขวัญเด็กเกิดใหม่ โกนผมไฟ โกนจุก สร้างบ้าน ยกเสาเอก ไหว้ครู ตั้งศาลพระภูมิ
                   4.3 บายศรีปากชาม 9 ยอด ใช้ในงานพระราชพิธีใหญ่ ๆ เพื่อสักการะบูชาครูบาอาจารย์ บวงสรวงเทพยดา ประดับด้วยบายศรีตัวแม่ 9 ชั้น รอบพานประดับด้วย ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ประดับยอดด้วยดอกดาวเรือง


การเตรียมรับขบวนขันหมาก- ฝั่งเจ้าสาว

สำหรับตัวเจ้าสาวจะต้องเตรียมคือ

  • พานเชิญขันหมาก – เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายหญิงและผ่านประตูเงินประตูทอง ฝ่ายหญิงก็จะลงมาเชิญขันหมากขึ้นเรือน เป็นธรรมเนียมมารยาทที่เชื้อเชิญญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายขึ้นเรือน
  • เด็กสาวที่เป็นลูกหลานวัยเด็ก ๆ ไว้ล้างเท้าเจ้าบ่าว ก่อนขึ้นเรือนของฝ่ายหญิง
  • ประตูเงิน ประตูทอง – ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นญาติของฝ่ายหญิงถือกั้นไว้

สรุปตัวอย่างการจัดพานขันหมาก 3 สเกล

1. งานแต่งงานขนาดเล็ก แขกไม่เกิน 100 ท่าน งบประมาณ 1250.- ชุดพานประกอบด้วย

  • พานขันหมาก (พ่อเจ้าบ่าวเป็นคนถือ)
  • พานธูปเทียนแพร (เจ้าบ่าวถือ)
  • พานแหวน/ทอง (แม่เจ้าบ่าวถือ)
  • พานเปล่า รองด้วยผ้าแพร/ลูกไม้ (1-2 พาน สำหรับสินสอดเป็นต้น)

2. งานแต่งงานมาตรฐาน แขกไม่เกิน 300 ท่าน งบประมาณ 2000.- ชุดพานประกอบด้วย

  • พานขันหมาก (พ่อเจ้าบ่าวเป็นคนถือ)
  • พานธูปเทียนแพร (เจ้าบ่าวถือ)
  • พานแหวน/ทอง (แม่เจ้าบ่าวถือ)
  • พานเชิญขันหมาก (ฝั่งเจ้าสาวเตรียม)
  • พานเงิน (ญาติฝั่งเจ้าบ่าว)
  • พานทอง (ญาติฝั่งเจ้าบ่าว)
  • พานขนมมงคล (ไม่รวมขนม)

3. งานแต่งงานขนาดใหญ่ แขกมากกว่า 300 ท่าน งบประมาณ 3000-5000.- ชุดพานประกอบด้วย

  • พานขันหมาก (พ่อเจ้าบ่าวเป็นคนถือ)
  • พานธูปเทียนแพร (เจ้าบ่าวถือ)
  • พานแหวน/ทอง (แม่เจ้าบ่าวถือ)
  • พานเชิญขันหมาก (ฝั่งเจ้าสาวเตรียม)
  • พานเงิน (ญาติฝั่งเจ้าบ่าว)
  • พานทอง (ญาติฝั่งเจ้าบ่าว)
  • พานขนมมงคล (ไม่รวมขนม)
  • พานขันหมากโท 9 คู่พร้อมผลไม้ ขนมในพาน และมุ้งครอบ (จัดแถวยาว เดินตามหลังขบวนขันหมากเอก)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Post comment